Skip to main content
3 basic movements basketball
3 basic movements basketball
3 ท่าพื้นฐานในการเล่นบาส ที่มือใหม่ต้องฝึกให้เก่ง!

สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการบาสเก็ตบอลมาหมาด ๆ เพราะโดนตกมาจากการแข่ง NBA หรืออาจจะเพราะถูกใจรองเท้าบาสเท่ ๆ สักคู่ ที่แค่เห็นก็อยากจะลองโลดแล่นไปบนสนาม …เชื่อว่าหลายคนน่าจะกำลังหาข้อมูลการฝึกบาสเก็ตบอล และต้องกำลังละลานตากับทักษะสกิลมากมายของผู้เล่นมือโปร จนไม่รู้ว่าจะเริ่มฝึกจากตรงไหนก่อนแน่นอน

แต่ Hoops Station ขอแนะนำว่าให้อดใจรอกับลีลายาก ๆ ก่อน แล้วลองมาฝึกท่าพื้นฐานให้แม่นไปด้วยกัน! เพราะถ้าคุณชำนาญกับท่าพื้นฐานเมื่อไร …การฝึกท่าทางการเคลื่อนไหวยาก ๆ ก็จะทำได้ง่ายมากขึ้นด้วยเช่นกัน!

สำหรับท่าพื้นฐานในการเล่นบาสของมือใหม่ จะมีอยู่ทั้งหมด 3 อย่างด้วยกัน คือ การเลี้ยงลูก การชู๊ต และการส่งลูก ผู้เล่นต้องฝึกท่าทางเหล่านี้ให้คล่อง เพราะนี่คือท่าพื้นฐานที่ต้องใช้ตลอดเวลาในการลงสนาม!

1. การเลี้ยงลูก (Dribbling)

Dribbing

การเลี้ยงลูก ถือว่าเป็นทักษะแรกที่นักบาสต้องฝึก จะบอกว่าเป็นสกิลที่สำคัญที่สุดก็ได้ เพราะบนสนามบาส เราไม่สามารถอุ้มลูกวิ่งไปเฉย ๆ ได้ นักบาสจึงมีแต่ต้องวิ่งไปพร้อม ๆ กับการเลี้ยงลูกเท่านั้น การเลี้ยงลูกจึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ที่นักบาสจะพาตัวเองไปยังจุดที่ต้องการแล้วทำคะแนน

ในขณะที่คุณกำลังฝ่าฝ่ายตรงข้ามไปยังแป้นบาส ป้องกันลูกจากคนที่จะเข้ามาแย่ง หรือคอยหาจังหวะส่งลูกให้เพื่อนร่วมทีม ก็ล้วนแต่เป็นเวลาที่คุณต้องเลี้ยงลูกอยู่ทั้งนั้น การเลี้ยงลูกให้ชินมือจึงเป็นทักษะและท่าพื้นฐานที่สำคัญมากจริง ๆ

แน่นอนว่า ในขั้น Advance แล้ว การเลี้ยงลูกมีลีลาท่าทางอีกมากมายที่นักบาสมือโปรใช้กันจนคล่อง แต่สำหรับนักบาสมือใหม่ เราอยากให้ลองฝึกพื้นฐานการเลี้ยงลูก อย่างพวกการตั้งท่า หรือวิธีจับลูกให้ถูกก่อน แล้วจึงค่อยขยับไปสเต็ปต่อไป

เทคนิคการฝึกเลี้ยงลูกบาส สำหรับนักบาสมือใหม่

– อย่าใช้ฝ่ามือในการจับลูกบาส แต่ให้ใช้ปลายนิ้วแทน ระหว่างลูกบาสกับมือ ควรจะมีช่องว่างอยู่ การจับด้วยปลายนิ้ว กางมือออกอย่างพอประมาณ จะช่วยให้นักบาสคุมลูกได้กระชับมากขึ้น
– ในขั้นตอนแรกอาจจะเริ่มจากการฝึกเลี้ยงลูกอยู่กับที่ (Pound dribbles)
– พยายามฝึกเลี้ยงลูกให้ชำนาญทั้งสองมือ แม้ว่าคุณจะถนัดขวา แต่มือซ้ายก็ต้องเลี้ยงลูกได้นะ
– ถ้าฝึกเลี้ยงลูกจนพอได้ระดับหนึ่งแล้ว ให้ลองมองหาเทคนิคการเลี้ยงลูกให้เร็วขึ้นแทน เพราะมันจะช่วยเพิ่มโอกาสรุกและรับได้มากทีเดียว
– ฝึกเองบ่อย ๆ ข้อดีของการฝึกเลี้ยงลูกคือ คุณสามารถฝึกเองคนเดียวได้ แล้วถ้าจับทางได้เมื่อไร การฝึกก็จะเห็นผลได้อย่างชัดเจน แม้จะฝึกในระยะเวลาสั้น ๆ

2. การชู๊ต (Shooting)

Shooting

ไม่ต่างจากการเลี้ยงลูก ‘การชู๊ต’ เป็นทักษะที่สามารถฝึกเองคนเดียวได้ แต่ถ้าคุณมีปัญหาอย่างพวก ฟอร์มการชู๊ตไม่ดี การมีคนคอยช่วยดูอยู่ข้าง ๆ ก็อาจจะดีกว่า ดังนั้น ในการฝึกชู๊ตลูก จึงเป็นการดีกว่าที่จะศึกษาเรื่องพื้นฐาน ท่าทางการยืน หรือองศาศอกให้เข้าใจก่อน แล้วจึงค่อยเอากลับมาฝึกเองคนเดียว

เทคนิคการฝึกชู๊ตลูกบาส สำหรับนักบาสมือใหม่

– การชู๊ตลูกที่ดี ควรใช้แรงส่งจากขาช่วย โดยอาจจะงอเข่าเล็กน้อย แล้วส่งแรงไปที่ข้อมือเพื่อชู๊ต
– ถ้าคุณกำลังฝึกชู๊ตมือเดียว ให้พยายามเก็บข้อศอกให้ชิดลำตัวไว้ พอยกแขนจะชู๊ต ลำแขนจะตั้งตรง ช่วยให้เล็งลูกได้แม่นขึ้น การยืดแขนให้สุดมือ ก็ช่วยเรื่องแรงส่งได้ดี แถมยังทำให้ชู๊ตสูงขึ้นด้วย
– ถ้าถนัดชู๊ตสองมือ ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องศอกมากนัก เพราะการชู๊ตด้วยสองมือจะทำให้เล็งง่ายขึ้นอยู่แล้ว
– ในการชู๊ตแบบมือเดียว ให้ใช้อีกมือช่วยประคองเบา ๆ (เผื่อว่ามือสั่น หรือมือยังไม่นิ่งพอ) และออกแรงชู๊ตด้วยการสะบัดข้อมือ ไม่ใช่เหวี่ยงทั้งแขน
– การตั้งท่าให้บาลานซ์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณถนัดชู๊ตมือขวา ตอนฟอร์มท่าชู๊ตให้ก้าวเท้าขวาออกมาด้านหน้าเล็กน้อย กางขาประมาณความกว้างไหล่ ฟอร์มประมาณนี้จะค่อนข้างสมดุลสำหรับการชู๊ต

 

3. การส่งลูก (Passing)

Passing

ในทั้งสามท่าพื้นฐานนี้ ‘การส่งลูก’ ถือว่ามีความท้าทายที่สุด เพราะเป็นทักษะที่ต้องอาศัยทั้งพลังกายและความคิด ต้องรู้ใจเพื่อนร่วมทีม วิเคราะห์สถานการณ์ได้แม่นยำ แถมยังต้องส่งให้ทันจังหวะดี ๆ ภายใต้ความกดดันอีก! ถือว่าเป็นท่าพื้นฐาน ที่ขนาดผู้เล่นมือโปรบางคน ก็ยังไม่โปรในสกิลการส่งลูกเลยล่ะ

เทคนิคการฝึกส่งลูกบาส สำหรับนักบาสมือใหม่

– ผู้เล่นมือใหม่อาจจะเริ่มจากการศึกษาระยะห่างที่เหมาะสมของตัวเองกับทีม การส่งลูกให้เพื่อนร่วมทีมที่อยู่ใกล้เกินไป อาจทำให้อีกฝ่ายรับได้ไม่ถนัดนัก หรือถ้าโชคร้ายก็อาจจะบาดเจ็บได้เลย ในทางกลับกัน ถ้าส่งลูกให้เพื่อนในระยะที่ไกลเกินไป ก็อาจจะทำให้ลูกถูกแย่งไประหว่างทางได้
– ในบางครั้ง การส่งลูกแบบเรียบง่ายก็ได้ผลดี ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคลีลามากมายตลอดเวลา ถ้าจังหวะโอเค ก็เหวี่ยงบอลไปเลย!
– พยายามมองให้ทั่วสนาม แล้ววิเคราะห์สถานการณ์ไปด้วย เพื่อหาจังหวะดี ๆ ในการทำคะแนน
– แม้ว่าบางครั้งการส่งลูกให้เพื่อนร่วมทีมอาจจะไม่สำเร็จ แต่ก็อย่าเพิ่งท้อไป เพราะในตอนที่มันไม่สำเร็จ คุณก็จะเห็นแล้วว่าปัญหาคืออะไร และจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง จริงไหม?

จบไปแล้วกับ 3 ท่าพื้นฐานการเล่นบาส ที่นักบาสทุกคนต้องฝึก! ถ้าอยากเล่นบาสให้เก่ง ก็ต้องฝึกฝนจนท่าเหล่านี้ชำนาญให้ได้! และระหว่างที่กำลังฝึกท่าเหล่านี้ ก็อย่าลืมแวะไปฝึกการชู๊ตแบบง่าย ๆ ที่บ้าน เพิ่มเติม จะได้เสริมทักษะแบบก้าวกระโดดกันไปเลย!

แอบกระซิบว่าครั้งหน้า Hoops Station จะเอาเทคนิคการเล่นบาสแบบ Advance (ขึ้นอีกหนึ่งสเต็ป) มาฝาก! รอรับชมกันได้เลย!

ขอบคุณข้อมูลจาก
Hoopsaddict

 

Stay In The Loop