Skip to main content
hoops-injuries banner
basketball-injuries
หลังร้าว ปวดเข่า เจ็บขา อาการบาดเจ็บหลังเล่นบาส เกิดจากอะไร?

‘กีฬา’ กับ ‘อาการบาดเจ็บ’ ดูจะเป็นของที่มาคู่กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการเล่นบาสเก็ตบอล ที่ต้องใช้ร่างกายแทบทุกส่วน อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จึงมีความหลากหลายและมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย …แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีหลีกเลี่ยง!

อาการบาดเจ็บจากการเล่นบาส เกิดจากอะไร?

ไม่ว่าจะเป็นอาการเบา ๆ อย่างความเมื่อยล้า ปวดหลัง ปวดเข่า เท้าเคล็ด หรืออาการบาดเจ็บหนัก ๆ อย่างเอ็นฉีก ไหล่หลุด หรือแขนหัก ก็ล้วนเกิดจากสาเหตุใหญ่ ๆ 3 ข้อ นั่นก็คือ

1. ไม่ได้ยืดกล้ามเนื้อ หรือยืดกล้ามเนื้อไม่มากพอก่อนลงสนาม

 

Injuries1

การยืดกล้ามเนื้อ จะเป็นเหมือนการเตรียมความพร้อมกล้ามเนื้อ ก่อนเจอการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรงหนัก ๆ หากอยู่ดี ๆ เราไม่ได้เตรียมความพร้อม แล้วกล้ามเนื้อเจอการเล่นกีฬาแบบจัดเต็มเข้าไป ก็จะตามมาด้วยอาการเจ็บปวดรุนแรงตามกล้ามเนื้อ หรือที่เรียกกันว่า กล้ามเนื้อฉีกขาด

ดังนั้น ก่อนเล่นบาสหรือออกกำลังกายทุกครั้ง เราต้องทำการ Warm up อุ่นเครื่องร่างกายเบา ๆ ด้วยการยืดกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันไม่ได้ร่างกายตกใจกับของจริงที่กำลังตามมา การยืดกล้ามเนื้อจะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น เพิ่มอุณหภูมิในร่างกายให้สูงขึ้น พร้อมรับการเผาผลาญ และที่สำคัญที่สุด คือช่วยลดโอกาสที่กล้ามเนื้อจะฉีกขาด

หลังออกกำลังกายเสร็จ ก็อย่าลืม Cool down ร่างกายด้วยการยืดเส้นยืดสายเบา ๆ อีกยก เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ให้เส้นคลายตัว เหมือนเป็นการบอกให้กล้ามเนื้อรับรู้ว่า การใช้แรงของวันนี้จบแล้วนะ!

หากเราไม่ได้ยืดกล้ามเนื้อ หรือ Warm up ร่างกายไม่มากพอ ก็มีโอกาสที่จะกล้ามเนื้อฉีกในภายหลังได้ หรือหากเรายืดเส้นยืดสายผิดวิธี ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมาได้เช่นกัน

2. หักโหมมากเกินไป

 

Injuries2

ไม่ว่าจะเป็นการหักโหมซ้อมหรือหักโหมตอนแข่งจริง ก็ล้วนแต่อันตรายต่อร่างกายทั้งนั้น เพราะการฝืนร่างกาย คือตัวการสำคัญที่จะทำให้ร่างกายบาดเจ็บเลยล่ะ การหักโหม คือการที่เราบังคับให้ร่างกายทำงานเกินความสามารถ แทนที่เราจะค่อย ๆ ฝึกร่างกายให้พร้อมรับกับการใช้งานไปทีละขั้น เรากลับฝืนกล้ามเนื้อ Lv.1 ให้ทำงาน Lv.9 เสียอย่างนั้น

บางคนอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังหักโหมอยู่ แต่ในบางทีที่เรามีการปวดเมื่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วยังทนฝืนเล่นต่อ ก็ถือว่าเป็นการหักโหมแล้วนะ! ทางที่ดี หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ที่เรื้อรังเกิน 1 อาทิตย์ ก็ได้เวลาของการนัดพบแพทย์แล้วล่ะ

ผลของการหักโหมร่างกายเกินความสามารถ ไม่เพียงทำให้เกิดการบาดเจ็บ แต่ยังอาจทำให้ร่างกายเสื่อมเร็วกว่าที่ควร บางทีอาจถึงขั้นที่ไม่สามารถรักษาได้ การหักโหมร่างกายจึงเป็นการกระทำที่ไม่คุ้มเอาเสียเลย ดังนั้น นักบาสทุกคนจึงจำเป็นต้องรู้ลิมิตของร่างกายตัวเองให้ดี รู้ว่าสามารถทำได้ถึงแค่ไหน และต้องค่อย ๆ ฝึกไปทีละขั้น ห้ามฝืนข้ามขั้นเด็ดขาด!

3. อุบัติเหตุจากการปะทะกันในสนาม

Injuries3

‘บาสเก็ตบอล’ ถือว่าเป็นกีฬาที่มีความเสี่ยงในการบาดเจ็บสูง เพราะเป็นกีฬาที่ใช้ร่างกายหลายส่วน ต้องใช้แรง และมีโอกาสเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย หากเล่นผิดจังหวะจนเกิดการปะทะกัน ก็มีโอกาสบาดเจ็บหนักได้

สาเหตุด้านอุบัติเหตุอาจจะเป็นเหตุผลเพียงข้อเดียวที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการฝึกซ้อมกับทีมบ่อย ๆ เพื่อให้รู้จังหวะการเล่นของเพื่อนร่วมทีม รวมถึงการสวมรองเท้าบาสที่พอดีไซส์ เพราะรองเท้าบาสจะถูกออกแบบมาให้รองรับการวิ่งและกระโดดเป็นพิเศษ บางรุ่นจะมีส่วนที่ช่วยป้องกันบริเวณข้อเท้า ในขณะที่บางรุ่นก็มีระบบรับแรงกระแทกที่ช่วยในเรื่องของการทรงตัวได้เป็นอย่างดี

การเลือกรองเท้าบาสให้เหมาะกับร่างกายและสไตล์การเล่นจึงสำคัญมาก หากทำส่วนนี้ได้ดี ก็ช่วยลดความเสี่ยงไปได้อีกเยอะเลย!

ตัวอย่างอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในการเล่นบาส

นักบาสส่วนมากมักต้องเจอกับอาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างอาการเคล็ด และเส้นยึด โดยบริเวณยอดนิยมที่มักจะเกิดอาการบาดเจ็บ ก็คือ ข้อเท้า เข่า หลัง มือ และข้อมือ ตามลำดับ และนี่ก็คือ 3 อาการบาดเจ็บยอดฮิตที่คนเล่นบาสต้องเคยเจอ! (แต่ไม่เจอก็ดีกว่านะ)

1. ข้อเท้าแพลง
อาการที่พบได้บ่อยคือ ข้อเท้าจะบิดเข้าด้านใน ทำให้เอ็นด้านนอกฉีกขาด หรือหนักเข้าอาจจะถึงขั้นกระดูกแตก สังเกตได้ง่าย ๆ ว่าภายนอกจะมีอาการบวมช้ำสีเขียวม่วงอย่างรวดเร็ว หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ พักการใช้งาน ประคบเย็น ใช้ผ้าพันบริเวณข้อเท้าที่แพลง และยกเท้าให้สูงกว่าหัวใจเวลานอนราบ เพื่อลดอาการบวม

2. นิ้วซ้น
คือการบาดเจ็บตรงข้อต่อ ที่เกิดจากกระดูกนิ้วเลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม โดยมีสาเหตุมาจากแรงอัดที่กระแทกปลายนิ้วอย่างแรง ในเบื้องต้น ให้ปฐมพยาบาลด้วยการดามนิ้วที่ซ้นเข้ากับนิ้วอื่นก่อน ประคบน้ำแข็งและยกนิ้วขึ้นไว้ในระดับหัวใจเพื่อลดอาการบวม และไปพบแพทย์ทันที

3. กล้ามเนื้อหดเกร็ง
โดยปกติแล้ว การหดตัวของกล้ามเนื้อที่จู่ ๆ ก็เกิดขึ้น มักจะไม่ได้เป็นอันตรายมากนัก และจะเกิดขึ้นแค่ครู่เดียว แต่อาจจะทิ้งความเจ็บปวดเอาไว้ได้ สาเหตุของกล้ามเนื้อหดตัว อาจจะเกิดจากความเหนื่อยล้าจากการออกกำลังกายมากเกินไป แมกนีเซียมต่ำ หรือโพแทสเซียมต่ำ ในเบื้องต้น ให้พยายามเหยียดกล้ามเนื้อ และนวดเบา ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อหยุดหดเกร็ง อาจจะใช้การประคบร้อนหรือประคบเย็นช่วยเสริมด้วยก็ได้เช่นกัน

หวังว่าบทความนี้จะสามารถตอบคำถามของทุกคนได้ ถึงที่มาของอาการปวดทั้งหลายหลังเล่นบาสจบ! แม้จะไม่สามารถป้องกันอาการบาดเจ็บเหล่านี้ได้ 100% แต่เราก็สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการรู้จักลิมิต ความสามารถของตนเอง ฝึกซ้อมให้บ่อย ทั้งกับตนเองและทีม แต่ถ้าเหนื่อยเมื่อไรก็ต้องพัก ห้ามฝืนหักโหมฝึกต่อ และอย่าลืมเลือกรองเท้าบาสดี ๆ ที่จะช่วยซัพพอร์ตการเคลื่อนไหวของเราให้เหมือนติดปีก! นอกจากนี้ Hoops Station ยังได้รวบรวม Support แบรนด์ดังมาให้เลือกซื้อกันได้แล้ว คลิก เลย

ใครที่กำลังมองหารองเท้าดี ๆ มาเช็กรุ่นรองเท้าบาสที่ถูกมองข้ามในปี 2564 กันก่อนได้! หรือจะแวะเข้ามาที่ Hoops Station ทั้ง 3 สาขา คือ Siam Discovery (FL. M), Central Plaza ขอนแก่น และ สาขาล่าสุด Central Plaza Westgate ชั้น 1 ทดลองสวมจริงกันไปเลย จะได้รู้ว่าคู่ไหนเหมาะ!

ขอบคุณข้อมูลจาก
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาสาเหตุที่หนีไม่ได้ – BaSkEtBaLlPiCkS
Basketball Injuries | Basketball Injury Prevention & Treatment (stopsportsinjuries.org)
Preventing and Treating Basketball Injuries (seattlechildrens.org)
Back and Neck Injuries in Basketball – Michael A. Gleiber, MD (michaelgleibermd.com)

Stay In The Loop